คิดนอกกรอบ กับ วิกฤติรอบ 2
ปัจจุบันเริ่มมีเสียงเตือนของความเสี่ยงการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบ 2 (Double dip recession) ดังขึ้นมาจากทุกทิศทาง โดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ทั้ง ศจ.สติ๊กลิทซ์ ศจ.รูบินี และ ศจ.พอล ครุกแมน การเตือนในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้โดยข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งนโยบายดูแลความเสี่ยงสถาบันการเงินของอเมริกา และ การควบคุมสินเชื่อของจีน ตลอดจนปัญหาของประเทศในเขตยูโรโซน ความเสี่ยงเหล่านี้สะท้อนมาที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และ ค่าเงินยูโร สัญญาณเหล่านี้มักเตือนถึงอันตรายของเศรษฐกิจจริงที่จะตามมาราว 2-3 เดือน ดังนั้น นักลงทุน ประชาชน รัฐบาล และนักเศรษฐศาสตร์ควรคิดนอกกรอบอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติครั้งใหม่หากมันกำลังจะเกิดขึ้นจริง
นักลงทุน...ทั้งในหุ้น และ สินค้าโภคภัณฑ์ คนกลุ่มนี้ไม่เชื่อ และ ไม่ชอบ นักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเตือนภัย “วิกฤติเศรษฐกิจ” นัก บางคนเรียกคล้ายๆ กับเป็น “หมอเดา” ด้วยซ้ำ แต่หากวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริง คนกลุ่มนี้ก็ทำได้เพียง สวดมนต์ อธิษฐาน และปลอบใจตนเอง ว่าสินทรัพย์ที่ถืออยู่นั้นเป็นของชั้นยอดมีมูลค่าที่ดี ... ทั้งกองทุนน้ำมัน ทองคำ หรือ หุ้นระดับยอดเยี่ยม บอกตัวเองว่าไม่ช้าไม่นานราคาต้องดีดกลับไปได้อย่างแน่นอน แต่ว่าหากจะคิดนอกกรอบของการถือครองหุ้น 100% หรือการลงทุนเต็มร้อยอยู่เสมอ โดยการถือเงินสดเพิ่ม หรือ ขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงก็น่าจะเป็นเรื่องที่ฉลาดกว่าก็ได้
ประชาชนธรรมดา.... ปกติของกรอบการคิดก็คือ เศรษฐกิจแย่ให้อดออมให้มาก แต่ผมอยากจะบอกว่า ให้คิดนอกกรอบครับ.... “ใช้จ่ายเพื่อชาติ ดีกว่าอดออมเพื่อชาติ” เพราะ หากทุกคนพากันอดออมกันหมด เศรษฐกิจก็จะย่ำแย่ต่อไป ช่วยๆ กันคิดนอกกรอบครับ
รัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย.... มักจะออกมาพูดเสมอว่า โอกาสเกิดวิกฤติรอบ 2 นั้นมีน้อยมาก เพราะ เขาไม่อยากจะต้องมาปวดหัวกับการคิดนโยบายมากนัก และต้องการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน อย่างไรก็ดี หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่จริง รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ใช้นโยบายการเงิน และ การคลัง ไปแบบสุดขั้วแล้ว และ ยังไม่ถอนมาตรการกระตุ้นแต่อย่างใด หากยังคงเห็นเศรษฐกิจปักหัวลงอีกครั้ง รัฐบาลทั่วโลกก็อาจทำได้แค่กุมขมับและมองตาปริบๆ เท่านั้น ดังนั้น โปรดคิดนอกกรอบโดยการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจากกองทุนบำนาญ แทนการใช้เงินงบประมาณตรงๆ
นักเศรษฐศาสตร์..... ถึงแม้คนกลุ่มนี้อาจคาดการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ และ เตือนภัยได้ก่อน แถมยังเรียกร้องให้คิดหากรอบแนวคิดใหม่ๆ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังวนอยู่ในกรอบเดิมๆ ไม่สามารถหาหนทางแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจได้นอกเหนือไปจาก นโยบายการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันได้พบแล้วไม่ได้ผลดีนัก ทำให้หลายประเทศต้องประสบกับ “กับดักสภาพคล่อง” และ “กับดักเคนส์” ไปด้วยกัน คือ แม้จะขาดดุลการคลังเต็มที่ และ กดดอกเบี้ยเฉียดศูนย์ อัดสภาพคล่องเข้าไป เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวดี และ มีภาระหนี้สาธารณะท่วมประเทศ ดังนั้น....คนกลุ่มนี้ควรจะพยายามมากขึ้นเช่นกัน.... มาดูตัวอย่างของ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เคนส์ดูบ้าง
เคนส์ได้ใช้ความกล้าหาญที่จะคิดนอกกรอบเมื่อ 80 ปีก่อน โดยแนะนำให้รัฐบาลกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อดำเนินนโยบายแบบขาดดุลการคลัง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ แต่ในยุคนั้น แม้แต่รัฐบาลอังกฤษซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเคนส์ กลับยิ้มเยาะและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเสี่ยงๆ เช่นนั้น อย่างไรก็ดีมีรัฐบาลของอีกซีกโลกหนึ่ง นาย Takahashi ซึ่งเป็นอดีต รมว.คลังของญี่ปุ่น ได้อ่านแนวคิดของเคนส์และรีบนำมาใช้เป็นประเทศแรกในปี คศ.1931 ก่อนที่หนังสือของเคนส์จะตีพิมพ์ในอีก 5 ปีต่อมา ด้วยความกล้าหาญที่เสี่ยงต่อการสูญเสียชื่อเสียง และ เก้าอี้ รมว. อย่างมาก หากเกิดความผิดพลาดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแนวคิดนอกกรอบของเคนส์ แต่ในที่สุดก็พบว่านโยบายของเคนส์ส่งผลดีอย่างมาก เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นไข้จาก The Great Depressionได้ภายในเวลาเพียงปีเดียว เร็วกว่าประเทศอื่นใดในโลก
ทำไมญี่ปุ่นจึงประสบความสำเร็จกับทฤษฎีเคนส์มาตลอดจากอดีตกาล แต่กลับล้มเหลวเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมา ...คำตอบตรงนี้ผมคิดว่าคงเป็น “โครงสร้างประชากร” ที่เปลี่ยนไป จาก “ปิระมิด” ที่ทำให้คนที่จะมีรายได้และเสียภาษีมีสูงขึ้นในยุคสมัยก่อน กลับเปลี่ยนเป็น “ปิระมิดหัวกลับ” รัฐบาลต้องรับภาระในการประกันสุขภาพ และเบี้ยบำนาญมากขึ้นแทน คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญถ้าจะบอกว่า ประเทศที่มีคนสูงอายุมากนั้น มีแนวโน้มเดียวกันกับ ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงด้วย โดยญี่ปุ่นนั้นมีค่าเฉลี่ยอายูของคนทั้งประเทศที่ 44.2 อันดับ 2 ของโลก อิตาลี 43.3 และ กรีซ 41.8 ปี ก็ติด top10 ทั้ง 3 ประเทศและก็กำลังรับภาระหนักต่อหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 100% GDP ขณะที่ไทยค่าเฉลี่ยอายุประชากรอยู่ที่ 33.3 และ ของทั้งโลกอยู่ที่ 28.4 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยของอายุประชากรสูง จะไม่ประสบความสำเร็จนักกับการใช้ทฤษฎีเคนส์ ประเทศพัฒนาแล้วจะพบกับปัญหานี้ก่อนโดยเฉพาะญี่ปุ่นนำหน้าเลย แต่ประเทศไทยก็ประมาทไม่ได้ เพราะ ไทยเราประสบความสำเร็จกับการคุมกำเนิด และ การแพทย์ชั้นยอดในการยืดอายุประชากรได้ดีเยี่ยม 2 เรื่องนี้อาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้น ไทยเองก็ควรเริ่มคิดนอกกรอบได้แล้ว
ผมจึงขอเรียกร้องให้นักเศรษฐศาสตร์สวมวิญญาณของ “เคนส์” ในการไม่ยอมจำนนต่อกรอบแนวคิดดั้งเดิม และ ค้นหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยกรอบแนวคิดใหม่ แม้ว่าอาจจะถูกยิ้มเยาะจากเศรษฐศาสตร์แนวคลาสสิกดั้งเดิมก็ตาม สำหรับผมแล้ว “เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก” คือ ผลลัพธ์ของความพยายามนั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วควรจะมีสิ่งที่ดีกว่านั้นเป็นแน่ และ ผมขอเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ สวมวิญญาณของMr.Takahashi ฉายา “เคนส์แห่งญี่ปุ่น” ที่พร้อมจะยอมเสี่ยงนำเอาแนวคิดนอกกรอบไปเป็นนโยบายเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ
หากเศรษฐกิจมีการดิ่งตัวลงอีกครั้งจริง ประชาชนจะพบกับความยากลำบากในการครองชีพ ความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลน่าจะสูงขึ้นอย่างมาก ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก บางทีผู้บริหารประเทศเหล่านั้นรวมทั้งประเทศไทยอาจต้องเลือกเสี่ยงอย่างกล้าหาญ ดำเนินนโยบายนอกกรอบอย่าง “เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เป็นได้ และหากเรื่องนี้ทำสำเร็จได้จริง ประชาชนคนไทยก็น่าจะอยู่ดีกินดีกันถ้วนหน้า ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยก็อาจลดลงได้อย่างน่าประหลาด ฝันนอกกรอบของผมจะเป็นจริงได้หรือไม่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น