จตุสมดุล : สมดุล 4 ประการที่ต้องปรับเปลี่ยน
ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
จตุสมดุล คือ สมดุล 4 ประการ ซึ่งปัจจุบันโลกและไทยได้สูญเสียสิ่งนี้ไป ได้ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจมากมายจนถึงขั้นวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ รวมไปถึงวิกฤติการคลังของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เรามาดูกันเป็นข้อๆ ว่า มีอะไรกันบ้าง
1. สมดุลการค้า : เห็นได้ชัดๆ เลยว่า อเมริกา ก็คือ ผู้นำเข้าตัวยงในอดีตจนถึงปัจจุบัน ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ราว 5% GDP อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตัวเลขนี้ได้ลดลงเหลือราว 3% GDP เท่านั้นในปัจจุบัน และประเทศที่ได้ดุลกับอเมริกามากที่สุดนั้นก็ไม่พ้นประเทศจีน ซึ่งก็ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากและต่อเนื่อง มีการเก็บเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเงินส่วนใหญ่ก็จะถูกนำกลับไปซื้อพันธบัตรอเมริกาอีกครั้ง ด้วยการเสียสมดุลเช่นนี้เอง ทำให้อเมริกาจมอยู่ในกองหนี้สิน เพราะค้าขายขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง และใช้จ่ายเกินตัวมาโดยตลอด ต้นทุนเงินต่ำๆ ได้ไปสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ฟองโตในประเทศอเมริกา และแตกลงในที่สุด
วิธีการแก้ไขสมดุลนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่วิธีซึ่งอเมริกาจะมาขึ้นภาษียางรถยนต์ หรือสินค้าเป็นกรณีไปสำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศจีน แต่อเมริกา ยุโรป และประเทศเอเชีย ควรร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศจีนได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งน่าจะเป็นระดับ 20-25% จะส่งผลให้จีนเพิ่ม GDP ต่อโลกได้อย่างเร็วอีกราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ (4 เท่าของประเทศไทย) จีนจะนำเข้ามากขึ้น ส่งออกลดลง ช่วยประเทศได้ทั่วโลก สมดุลการค้าโลกก็จะกลับมาได้ ทั้งโลกควรจะต้อง "ยืมพลังจากจีน"
2. สมดุลการออม : สิ่งนี้ต่อเนื่องจากข้อก่อน เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัด ก็คือ การออมสุทธิ (การออมลบด้วยการลงทุน) นั่นเอง ดังนั้น ประเทศที่ออมมากเกินไป ก็คือ ประเทศจีน ส่วนประเทศที่ออมน้อยเกินไป ก็คือ อเมริกา การปรับค่าเงินหยวนจะช่วยให้จีนออมน้อยลงได้ ขณะเดียวกัน อเมริกาจะส่งออกได้มากขึ้น นำเข้าจากจีนลดลง ช่วยให้การออมสูงขึ้นได้เช่นกัน
สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีการออมที่มากเกินอยู่สูงถึง 8% GDP จากการได้ดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ดี สัดส่วนนี้น่าจะน้อยลงตามการลงทุนภาครัฐผ่านปฏิบัติการ "ไทยเข้มแข็ง"
นอกจากนี้แล้ว การออมส่วนบุคคลนั้น รัฐบาลให้หักลดหย่อนภาษีได้สำหรับ RMF และ LTF ซึ่งรวมกันเป็นเงินถึง 1 ล้านบาท สำหรับคนรวยๆ เท่านั้น ที่รัฐสนับสนุนยอมเสียเงินภาษี ซึ่งควรจะเรียกเก็บได้ปีละเกือบหมื่นล้านบาท ขณะที่มี "การบังคับ" ให้ผู้ประกันตนออมเงินเข้ากองทุนชราภาพประกันสังคม โดยที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ต้องไปกู้เงินดอกเบี้ยโหด ทั้งในและนอกระบบ ทำให้การออมสุทธิอาจติดลบ เนื่องมาจากส่วนต่างของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น นี่เป็นการทำให้เสียสมดุลแห่งการออม โดยสนับสนุนคนรวยให้ออมมากๆ เกินไป และทำให้คนจนๆ ติดหนี้สินออมสุทธิได้น้อยลงอยู่ตลอด
ทางแก้ไข ก็คือ รัฐบาลต้องยอมอนุญาตให้สามารถยืมเงินออมของแต่ละบุคคลไปเพื่อแก้ไขหนี้สินดอกเบี้ยโหดของตนเอง หรือเพื่อการลงทุนได้ นอกจากนี้ ควรลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับ RMF, LTF ลง ไม่ต้องอุ้มคนรวยจนเกินงาม ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก
3. สมดุลการคลัง : เป็นเรื่องที่ประเทศทั่วโลกกำลังกังวลใจ โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศนำหน้าปัญหาในเรื่องนี้ โดยมีหนี้สาธารณะสูงถึง 200% GDP และได้ติด "กับดักเคนส์" คือ เพิ่มหนี้สาธารณะมากกว่าการเพิ่มของ GDP นานมาถึง 17 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศอเมริกา และยุโรปติด "กับดักเคนส์" มาได้ราว 2 ปี โดยรัฐบาลมีภาระหนักมากในการประกันสุขภาพ และจ่ายเบี้ยบำนาญคนชราที่เพิ่มขึ้นตลอด นอกจากนี้ ภาระดอกเบี้ยพันธบัตรก็พอกพูนขึ้นทุกวันทุกเดือนทุกปี วิธีแก้ไขสมดุลในเรื่องนี้ คือ "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" โดยรัฐบาลควรยืมพลังจากแหล่งต่างๆ ทั้งกองทุนบำนาญ คนเกษียณต่างชาติ ตลาดหุ้นและแบงก์รัฐทั้งหลาย เพื่อมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ
4. สมดุลการลงทุน : ตลาดหุ้นไทยมีการเสียสมดุลอย่างมาก ต่างชาติซึ่งมีการซื้อขายราว 15% เท่านั้น แต่กลับสามารถกำหนดทิศทางตลาดหุ้นได้ โดยหุ้นขนาดใหญ่ที่ต่างชาติสนใจถูกซื้อ จนทำให้ราคาแพงมากๆ โดยซื้อขายกันที่ P/E สูงกว่า 20 เท่า โดยมีแรงซื้อของกองทุนต่างๆ และนักลงทุนรายย่อยที่แห่ตามด้วย ขณะที่หุ้นในธุรกิจประเภทเดียวกันซึ่งตัวเล็กกว่านั้น กลับซื้อขายกันที่ P/E เพียง 5 เท่า เท่านั้น ตัวอย่างเช่น หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นี่ชัดเจนมาก อาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นที่ไร้สมดุลของ P/E
วิธีแก้ไขในเรื่องนี้เป็นหนึ่งกระบวนท่า "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" โดยให้มีการให้มีจัดตั้ง "กองทุนหุ้นเล็ก" เพื่อส่งเสริมการลงทุนในลักษณะที่เหมาะสมกับพื้นฐานผลประกอบการ และดึงตลาดสู่สมดุลยิ่งขึ้น
"มวยไทเก๊ก" คือ เพลงมวยที่คิดค้นขึ้นโดยปรมาจารย์จางซันฟง มีอายุยาวนานกว่า 800 ปี โดยใช้หลักการของลัทธิเต๋า มี 3 ประเด็นหลัก คือ "อ่อนสยบแข็ง" "ยืมพลังศัตรู" และ "รักษาสมดุลหยินหยาง" ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหาก "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" (Taiji Economics) อาจเป็นทฤษฎีที่สามารถสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจโลกได้ ผมจึงอยากขอร้องให้นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายทั้งไทยและต่างประเทศ ได้โปรดศึกษาในเรื่องนี้ และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจไทยและโลกต่อไปครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น