ตามที่มีการคาดการณ์โดยทั่วไปทั้งจากภาครัฐ และ เอกชนว่าเศรษฐกิจปี 2553 นั้นจะเติบโตได้สูงระดับ 3.5%-4% ได้ไม่ยากเย็น แต่เหตุใดเราจึงควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันอาจไม่เป็นเช่นนั้น แม้จะยังไม่นำเอาผลกระทบทางลบจากการเมืองเข้าไปรวมด้วยก็ตาม
GDP = C+I+G+(X-M) คือ สมการของ GDP ซึ่งเราจะมาดูกันทีละตัว
การบริโภคภาคเอกชน (C) แม้ว่าจะดูเหมือนมีการฟื้นตัวขึ้นมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มเร่งตัวอย่างชัดเจน เป็นนโยบายการเงินที่จะติดเบรกกับการฟื้นตัวนี้ ไม่เพียงเท่านั้น การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจะกลับไปเป็น 5% จากที่เคยลดลงมาเหลือ 3% ของรายได้ทุกเดือนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ในมือลดลง 2.5 หมื่นล้านบาท และ หากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผ่านสภาออกมาได้ก็จะดูดเงินออมเข้าไปได้ถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ยอดเงิน 2 ส่วนนี้เงินซึ่งเป็นกำลังซื้อของประชาชนจะหายไป 7.5 หมื่นล้าน หรืออาจกระทบกับ GDP ได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้เงินกำลังซื้อก็ถูกดูดกับกองทุนเงินออมอย่าง RMF และ LTF ไปหลายหมื่นล้านบาทแล้ว ซึ่งเป็นการโยนเงินภาษีของชาติไปช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนให้คนระดับเศรษฐี ทำให้พวกเขาออมเงินมากไป พลอยทำให้การบริโภคโดยรวมลดลง และ เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดีนัก
ด้านการลงทุนภาคเอกชน (I) นั้น หลังจากได้รับผลกระทบกรณีมาบตาพุด ทำให้ 65 โครงการยอดเงินระดับ 2 แสนล้านบาท ต้องหยุดชะงัก ซึ่งยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปอีก จากการที่ต่างชาติได้เปลี่ยนใจพับแผนการเข้าลงทุนในไทยไปหลายโครงการแล้ว ยังไม่รวมถึงการที่สมาคมต่อต้านโลกร้อนจะฟ้องศาลปกครองอีกถึง 181 โครงการ ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนได้อย่างมาก โดยอัตราการใช้กำลังผลิตก็ยังต่ำระดับ 65% เท่านั้น ไม่เอื้อต่อการขยายกำลังการผลิตเท่าใดนัก
เมื่อภาครัฐ ส่งเสริมการออมเพื่ออนาคต เหรียญอีกด้านก็สะท้อนมาที่ การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ลดลงในปัจจุบัน เมื่อรัฐจำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อม และ สุขภาพของประชาชน เหรียญอีกด้านก็สะท้อนมาที่ การลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมหนักที่ลดลง สรุปก็คือ การออม และ สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญในระยะยาว แต่ในระยะสั้นๆ นั้นกลับส่งผลทางลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้
การใช้จ่ายภาครัฐ (G) เป็นเรื่องที่ควรจะหวังได้หรือไม่ ยังมีประเด็น 3ก. “กู้-กลัว-โกง” ที่ต้องพิจารณาซึ่งอาจทำให้การอนุมัติ และ เบิกจ่ายล่าช้าออกไปได้
กู้ : เมื่อเงินคงคลังไม่พอ ก็จำเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่าย พรก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทได้ผ่านไปแล้ว แต่ไทยก็ยังคงต้องระมัดระวังต่อการสร้างหนี้สาธารณะต่อ จีดีพี สูงกว่าเป้าหมาย 60% ได้ โดยในระยะยาวแล้ว สังคมผู้สูงอายุจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นต่อเนื่องและหยุดไม่ค่อยได้
กลัว : มีความกังวลกันมากถึงการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ โดยเริ่มจากกระทรวงสาธารณสุข และ มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบอีก 3 กระทรวงเพื่อป้องกันการทุจริต มีการกลัวว่าจะคุ้มค่าไหม จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไหม ซึ่งเรื่องพวกนี้ทำให้โครงการต่างๆ ล่าช้าไปได้
โกง : อย่างไรก็ดีอาจเกิดการโกงขึ้นจริง ทำให้รั่วไหล ประสิทธิภาพของเงินทุนจะลดลง และอาจส่งผลให้โครงการล่าช้าได้ เพราะ ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้ลงตัวกันเสียก่อน
จากทั้ง 3 เรื่องนี้เอง อาจทำให้การอนุมัติ และ เบิกจ่ายเงินของโครงการล่าช้า ทำให้ G ไม่สามารถส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
สุดท้ายแล้ว เราจะหวังกับการส่งออก (X) ได้หรือไม่ ผมเห็นกับระเบิดถึง 3 ลูกที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในปี 53 นี้
- วิกฤติเกี๊ยวซ่า : จีนได้ปล่อยให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ขึ้นมา มีการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึง 200% ในปีก่อน และ ราคาก็สูงขึ้นถึงเท่าตัว ภายในปีเดียว สิ่งนี้เป็น “ฟองสบู่” โดยแท้ คอนโด 1 พันตารางฟุต มีราคาต่อ ตารางฟุตที่ 300-400 เหรียญสรอ. นั้น สูงถึง 80 เท่าของรายได้ต่อปีโดยเฉลี่ยของประชากรจีนในเมืองใหญ่ ขณะที่ตัวเลขที่เหมาะสมควรอยู่ราว 20-25 เท่าเท่านั้นเอง ฟองสบู่ลูกนี้น่าจะพร้อมจะแตกลงภายในปีนี้
- วิกฤติแหนมเนือง : เวียดนามได้เดินในเส้นทางเดียวกับไทย ที่มีการลงทุนเกินตัว ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และ ระบบ FX ไม่ยืดหยุ่นทำให้ความสามารถในการส่งออกตกต่ำ เราอาจเห็นค่าเงินด่องดิ่งลงอย่างเร็ว กระทบต่อเนื่องมายังการส่งออก การลงทุนของไทยได้
- วิกฤติยูโรโซน : ประเทศ PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) ซึ่งเป็นประเทศริมขอบยูโรโซนนั้น อ่อนแอเกินไป แต่ก็ยังใช้เงินยูโรอยู่ ซึ่งจะส่งผลลบต่อค่าเงินยูโรได้อย่างมาก หากมีการลดอันดับเครดิตต่อเนื่อง หากค่าเงินยูโรลดลง 20% ก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อเป็นดอลลาร์ของโลก ลดลงได้ราว 5%
ทั้ง 3 ภูมิภาคนี้ ล้วนมีต้นตอของปัญหาเดียวกันคือ “ระบบอัตราแลกเปลี่ยน FX ที่ไม่เหมาะสม” โดยจีนได้ peg กับค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินหยวนจึงมีค่าอ่อนกว่าความเป็นจริงราว 20-30% ทำให้ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูง พร้อมๆ กับเงินทุนไหลเข้าอย่างมาก การดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินนี้ทำได้ไม่หมด จึงส่งผลให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ ขณะที่เวียดนามแม้จะ peg กับดอลลาร์เช่นกัน ทำให้ค่าเงินด่องของเวียดนาม สูงเกินจริงกว่าตลาดมืด ส่งผลให้ขาดดุลการค้าอย่างหนัก การนำเข้าและลงทุนสูงเกินระดับร้อนแรงเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดวิกฤติเงินทุนไหลออกได้ในที่สุด สำหรับประเทศริมขอบยูโรโซนนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอ แต่ยังคงใช้ค่าเงินยูโรต่อไป ส่งผลให้ขาดดุลการค้าอย่างหนักต่อเนื่อง บางประเทศอย่างสเปนนั้น มีอัตราการว่างงานสูงถึง 20%
หากกับระเบิด 3 ลูกนี้ “ตูมตาม” ขึ้นมาในปีนี้ การคาดหวังว่าการส่งออกจะเติบโตได้ 15% นั้นก็คงเป็นแค่ฝันกลางวันเท่านั้น สรุปก็คือ ยังคงมีความเสี่ยงมากมายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ แม้ว่าไตรมาสแรกจะดูดีมาก เพราะคงเติบโตได้สูงจากฐานที่ต่ำมากในปีก่อน แต่ถ้าดูทั้งปีแล้ว...เสี่ยงครับ
ควรหาแผนสำรองไว้ด้วย "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" หรือ Taiji Econ. นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น