วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ท่านเห็นตัว V แต่ผมเห็น W

ท่านเห็นตัว V แต่ผมเห็น W
ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552


ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลงานด้วยความมั่นใจ ว่า ประเทศไทยมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แบบตัว V อย่างรวดเร็ว คล้ายๆ กับหลายประเทศในโลก แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เมื่อเทียบปีต่อปีแล้วจะติดลบถึงกว่า 5% ก็ตาม อันนี้ผมเชื่อ แต่สิ่งที่เราควรกังวล ก็คือ ขาลงครั้งที่ 2 ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นลักษณะของตัว W มากกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อาจมีเหตุผลหลายประการด้วยกัน

1. ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ย้อนรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยก็มีการฟื้นตัวเป็นรูป W เช่นกัน โดยการฟื้นตัวครั้งแรกนั้น หลักๆ แล้ว เกิดจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ จนเมื่อดูแล้วว่าเศรษฐกิจไม่ฟื้นจริง ความเชื่อมั่นจึงเสื่อมถอยทำให้เศรษฐกิจดำดิ่งลงอีกครั้ง เป็นจุดต่ำสุด 2 ครั้ง

2. นโยบายตลาดเงิน เมื่อมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรกันอย่างมากในตลาดสินทรัพย์ทั้งหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ แต่เพื่อป้องกันการเก็งกำไรจึงมีการเข้าไปควบคุมสินเชื่อเพื่อการเก็งกำไรนี้ โดยเห็นได้จากประเทศจีน นอกจากนี้ การคาดการณ์ถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะวิ่งสูงขึ้นในอนาคต ก็ทำให้เศรษฐกิจที่ทำท่าจะฟื้นตัวชะลอตัวลงอีกครั้ง

3. นโยบายการคลัง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา จะทำให้รัฐบาลเริ่มหาทางออก ในการลดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้สาธารณะหนักหนาเกินไป ด้วยการหาทางขึ้นภาษี หรือลดสวัสดิการสังคมลง อันจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอีกครั้งหนึ่ง

4. ตลาดหุ้น ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าราว 3 เดือนนั้น ได้บ่งบอกสัญญาณบางอย่าง โดยเฉพาะจากตลาดหุ้นจีน ซึ่งเป็นตลาดนำในการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลับส่งสัญญาณกลับทิศลง ด้วยข่าวของการเข้าไปควบคุมสินเชื่อเพื่อเก็งกำไร ดังนั้น หากตลาดหุ้นจีน เปลี่ยนทิศเป็นขาลงตั้งแต่ต้นสิงหาคม ก็หมายถึง เราอาจต้องตั้งรับกับเศรษฐกิจขาลงรอบใหม่ ประมาณปลายปีนี้ก็ได้ และตลาดหุ้นมักมีการสร้างฐาน 2 ครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นที่แท้จริงก่อนเป็น "ขาขึ้น" หรือตลาดกระทิงที่แท้จริง

ด้วยสัญญาณเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งเตือนภัยไปยังรัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ที่จะต้องเตรียมหามาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับเศรษฐกิจขาลงครั้งที่ 2 นี้ โดยที่ความเชื่อมั่นและความอดทนของประชาชนเริ่มเหลือน้อยลงทุกที ในขณะที่การขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะก็อยู่ในภาวะที่เสี่ยงมากต่อภาระภาษีในอนาคตของรุ่นลูกหลาน นั่นหมายถึง การใช้นโยบายการคลังต่อไปถูกจำกัดลง

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผมอยากจะเตือนท่านว่า การฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งใหญ่นั้นด้วยเหตุผล 4 ประการข้างต้น มักจะมีการฟื้นตัวแบบ W มากกว่า ด้วยเหตุที่การฟื้นตัวครั้งแรกเกิดจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อประชาชนพบว่า ยังคงมีปัญหามากมายทั้งการว่างงาน สินค้าขายไม่ได้ ดอกเบี้ยก็ทำท่าจะขึ้น เศรษฐกิจก็จะกลับทิศปักหัวลงอีกครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ก่อนที่การฟื้นตัวจริงจะเกิดตามมาในที่สุด

รัฐบาลมีการจัดโครงการ "ไทยเข้มแข็ง" ซึ่งใช้เงินถึง 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรับมือเศรษฐกิจขาลงหนที่ 2 ใช่หรือไม่ คำตอบก็คือมันไม่ง่ายเช่นนั้น เหตุผล ก็คือ การใช้นโยบายการคลังนั้นมีข้อเสียอยู่ 3 อย่าง คือ "ช้า รั่ว และหนัก"

ช้า คือ ผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่กำหนดโครงการประมูล จัดซื้อจัดจ้าง เบิกจ่าย เสียเวลานานมาก

รั่ว คือ การรั่วไหลของเงินไปยังกระเป๋าของนักการเมือง ข้าราชการ ซึ่งก็คือการคอร์รัปชันนั่นเอง

หนัก คือ เป็นภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ทำให้รัฐต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นในอนาคต และหมายถึง ภาระภาษีของคนรุ่นถัดไปนั่นเอง

เหตุที่ประเทศไทยฟื้นตัวไม่แข็งแรง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาการเมือง และไข้หวัด 2009 แต่ก็มีส่วนหลักมาจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถทำการขาดดุลงบประมาณได้ระดับ 12% GDP เหมือนประเทศอื่นๆ อย่างจีน หรืออเมริกา ประเทศไทยเราทำได้อยู่ระดับ 6% GDP เท่านั้นเอง ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายงบประมาณ และแรงต่อต้านทางการเมือง ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลกู้เงินมากนัก ด้วยการขาดดุลเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยยังคงมีการออมส่วนเกินจากการได้ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจถึง 7 แสนล้านบาทในปีนี้ และการออมที่มากเกินนั้น ก็คือ ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มศักยภาพ

รัฐบาลพยายามลงทุนผ่าน "ไทยเข้มแข็ง" เพื่อลดการออมส่วนเกินในภาคเอกชน คือ ลงทุนนำร่องก่อน อย่างไรก็ดี การคลังมีปัญหาในด้าน "ช้า รั่ว และ หนัก" ดังนั้น หากมองอีกด้าน แก้ไขปัญหาด้วยการ "ลดเงินออม" โดยตรงก็จะทำให้ "เร็ว ครบ และ เบา" ซึ่งจะทำให้เงินถึงมือประชาชนถึง 9 แสนล้านบาท ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งใหญ่กว่า "เช็คช่วยชาติ" ถึง 45 เท่าตัว แต่สำคัญ คือ รัฐไม่ต้องเสียเงินเลย ได้เงินกินเปล่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทอีกด้วย เพียงแค่ 2 กระบวนท่าใน 18 กระบวนท่าของเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ด้วยการ "ยืมพลัง" จากกองทุนบำนาญซึ่งมีสินทรัพย์ถึง 2.5 ล้านล้านบาท ก็จะสามารถเพิ่มอุปสงค์ที่ขาดแคลน ณ ปัจจุบัน และลดการออมส่วนเกินของภาคเอกชนไปได้มากแล้ว

ผมเชื่อครับว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวช้าๆ ได้จริง แต่ปัญหา ก็คือ เราได้เตรียมรับมือกับขาลงครั้งที่ 2 นี้แล้วหรือยัง ผมเชื่อว่า "ไทยเข้มแข็ง" นั้น "ช้า รั่ว และหนัก" ไม่ทันกาลต่อการใช้เงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที เพราะเงินที่จะใช้ก่อนถึงปลายปีนี้ราว 5 หมื่นล้านเท่านั้นเอง รัฐบาลอาจต้องหาแผนสำรอง ซึ่งหากเป็น "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" ก็อาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเร็ว เป็นที่พอใจมากของประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังอาจได้รับชื่อเสียงว่าเป็นผู้นำด้านนโยบายแนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกก็เป็นได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น