วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กอช. กับดักการออมแห่งชาติ

กอช. แปลว่า "กับดัก" การออมแห่งชาติ?
ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552


ทั้งรัฐบาล และนักวิชาการล้วนประสานเสียงกัน พูดถึงข้อดีของโครงการนี้ และสนับสนุนอย่างเต็มที่ เรื่องนี้ได้ผ่าน ครม.มาแล้ว เพื่อสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับแรงงานนอกระบบราว 26 ล้านคนให้มีเงินบำนาญ เพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาท ณ ปัจจุบัน ได้รับการชื่นชมจากทุกฝ่าย ว่า เป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับประชาชนคนไทยในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผมขอออกเสียงคัดค้านในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลทางวิชาการ เนื่องจากเห็นผลเสียของโครงการนี้ต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ความรู้ง่ายๆ เลยที่แม้แต่เด็กประถมก็รู้ โดยที่ไม่ต้องจบดอกเตอร์ แต่หลายคนมองข้ามไป ก็คือ "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" หากเด็กๆ อยากจะเก็บออมมากขึ้นเพื่ออนาคต พวกเขาก็ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อขนมน้อยลงในปัจจุบัน ค่าขนมถึงจะเหลือได้มากขึ้น และหากเงินค่าขนมที่ได้รับน้อยลงตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ก็เป็นไปได้ว่า ถ้าคิดจะออมเงินมากขึ้น พวกเขาก็อาจจะต้องอดอาหารมื้อกลางวันไปเลย

พวกเราย่อมรู้ๆ กันเป็นอย่างดีว่า การใช้จ่ายที่น้อยลงของคนหนึ่ง จะไปกระทบรายได้ที่ลดลงของอีกคนหนึ่ง อาทิเช่น ผมเคยกินข้าว 2 จาน แต่ผมอยากประหยัดเลยกินเหลือแค่ 1 จาน ผมประหยัดเงินได้ 25 บาท แต่แม่ค้าขายข้าวแกงจะมีรายได้ลดลง 25 บาทเช่นกัน ดังนั้น การออมมากเกินไป จะทำให้รายได้ของคนอีกกลุ่มหนึ่งลดลง และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าลง

Paradox of thrift หรือ "ความขัดแย้งจากการประหยัด" ประโยคที่ถูกทำให้ดังโดยจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้กล่าวถึงว่า หากแต่ละคนพยายามจะประหยัดเก็บออมมากขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำต่อไป รายได้จะลดลง และผลสุดท้าย ทำให้การออมที่หวังไว้จะทำไม่ได้ อย่างไรก็ดี มีบทความที่ชี้ให้เห็นถึง "ด้านมืด" ของกองทุนบำนาญน้อยมาก และมีบทวิเคราะห์วิจัยน้อยมากเช่นกัน ที่กล่าวถึง ผลกระทบต่อ GDP จากการตัดตั้งกองทุน กอช.

ปัจจุบันไทยมีการออมที่มากเกินไปอยู่แล้ว โดยดูได้จากการได้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้สูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 7 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ คือ "การออม" ที่ มากกว่าการลงทุน ตกราว 8% GDP ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก นอกจากนี้ แม้รัฐพยายามลดการออมที่มากเกิน ด้วยการขาดดุลงบประมาณราว 6% GDP แต่นั่นก็หมายถึงว่า สำหรับภาคเอกชนแล้ว มีการ "ออมที่มากเกิน" ถึง 14% GDP ซึ่งเป็นส่วนที่การออมสูงกว่าการลงทุนอย่างมากมายกว่า 1 ล้านล้านบาท (โดยกำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำมากจนหวังจะเพิ่มการลงทุนภาคเอกชนไม่ได้) ในเมื่อเราออมมากเกินอยู่แล้ว ยังมีแนวคิดจะสร้างระบบเงินออมผ่านกองทุน กอช.นี้อีก จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่ออุปสงค์รวมอย่างยิ่ง

อาจกล่าวได้ถึงข้อเสียของ กอช. ได้ดังต่อไปนี้

1. ไม่ยุติธรรม : สมทบเงินเข้าเฉพาะแรงงานนอกระบบ ขณะที่แรงงานในระบบนั้นไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเลย โดยเฉพาะกรณีกองทุนชราภาพของระบบประกันสังคม

2. เป็นภาระภาครัฐและหนี้สาธารณะ : อาจเป็นภาระภาครัฐถึงปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท หากมีผู้เข้าร่วมโครงการมาก นอกจากนี้ ยังมีภาระในการลดหย่อนภาษีด้วย และรัฐบาลก็ไม่มีทางอื่นใดนอกจากกู้เงินมาเพื่อใช้สมทบเงิน ซึ่งก็จะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะต่อไป

3. บิดเบือนกลไกตลาด : ปกติแล้วผลตอบแทนตอนนี้หากเป็นระยะสั้นจะได้ราว 1-2% ต่อปีเท่านั้น ระยะยาวก็ได้เพียง 3-4% ต่อปี แต่ กอช. สำหรับผู้ส่งเงินสมทบจะได้ผลตอบแทนสูงถึง 50-100% แล้วแต่ช่วงอายุ เพราะรัฐบาลจะสมทบให้เป็นเงิน 50-100 บาท หากผู้ออมใส่เงิน 100 บาททุกเดือน การทำเช่นนี้ จะทำให้การออมตามปกติผ่านธนาคาร และประกันชีวิต ลดลงได้

4. เสถียรภาพของกองทุน : เป็นที่น่ากังวลว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินบำนาญให้สูงไปหรือไม่ อาทิเช่น จ่ายบำนาญถึงกว่าเดือนละ 1 พันบาท ขณะที่เก็บสมทบแค่เดือนละ 100 บาท ในที่สุดแล้ว กองทุนอาจไม่เหลือเงินมากพอก็ได้ในระยะยาว

5. ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า : นี่อาจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ด้วยเงินราว 5 หมื่นล้านบาททุกปีที่ภาคเอกชน และรัฐบาลร่วมกันสมทบเข้า กอช.นั้น จะทำให้ประชาชนพยายามเจียดเงินมาออม เพราะได้ผลตอบแทนสูง จะยิ่งทำให้การใช้จ่ายปัจจุบันลดลงไปอีก หากคิดที่ตัวทวีคูณ คือ 2 เท่าอาจหมายถึง GDP ที่หายไปราว 1 แสนล้านบาท (ราว 1% GDP) ทุกๆ ปีต่อจากนี้ไป 10 ปีเต็มๆ

ปัจจุบันปัญหาของเศรษฐกิจ ก็คือ การขาดแคลนอุปสงค์ที่เพียงพอ ดังนั้น รัฐบาลมีทางทำได้ 3 ทางเพื่อเพิ่มอุปสงค์ นอกเหนือจากนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ ธปท.ดูแลอยู่แล้ว คือ

1. นโยบายการคลัง ซึ่งก็ได้ทำผ่านแผนกระตุ้นระยะสั้นมาแล้ว ต่อเนื่องด้วย "ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง" แต่ก็ยังคงมีปัญหาตามที่ผมว่าไว้ คือ "ช้ารั่วและหนัก"

2. นโยบายกึ่งการคลัง โดยเข้าไปสนับสนุน และค้ำประกันสินเชื่อผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่ปัญหาของเรื่องนี้ ก็คือ "ความกลัว" อาทิเช่น กลัวเงินฝากไปพอ กลัวเงินทุนไม่เพียงพอ กลัวจะกลายเป็นหนี้เสีย และกลัวความผิดในข้อหาปล่อยสินเชื่อโดยไม่รอบคอบ เป็นต้น

3. นโยบายเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก โดยรัฐเข้าไปยืมพลังจาก "กองทุนบำนาญ" อาทิเช่น ลดเงินสมทบภาคบังคับลงมา อนุญาตให้นำเงินออมบำนาญใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ หรือว่าให้กองทุนบำนาญลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และสินค้าเกษตรมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น

จะเห็นว่า กอช. นั้นขัดแย้งกับข้อ 3. โดยสิ้นเชิง ผมรู้สึกแปลกใจต่อข้อคิดเห็นของนักวิชาการจำนวนมากที่สนับสนุนโครงการนี้ ว่า พวกเขาได้มองอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ ผมอยากบอกให้ชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง ว่า "ในโลกนี้ ไม่มีของฟรีหรอกครับ" หากอยากจะจัดตั้งสวัสดิการเช่นนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต รัฐบาลต้องเตรียมตัวทำใจตั้งรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิมราว 1% ทุกๆ ปีให้ดี แต่เพื่อประเทศไทย เนื่องจากโครงการนี้แม้จะดีในระยะยาว แต่ขัดแย้งกับภารกิจหลัก คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ผมคิดว่าเก็บเข้าลิ้นชักไปสักพักก่อนจะดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น