ถ้าผมเป็น รมว.คลัง มีหวังหุ้นไทยจะไม่ลง
ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
ที่ขึ้นหัวเรื่องแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมมีบารมีมากพอจะเป็น รมว.คลังได้หรอกนะครับ เพียงแต่อยากฝากความคิดเห็นไปถึงท่านขุนคลังของโลก และผู้รับผิดชอบตลาดทุน ให้มองเห็นถึงแนวคิดว่าศักยภาพของประเทศไทย ก็สามารถจะพยุงตลาดหุ้นได้
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า รมว.คลัง จะมีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตาย กำหนดทิศทางของตลาดหุ้นได้เชียวหรือ ขณะที่เขียนบทความอยู่นี่ดัชนีหุ้นไทยก็ตกลงมาราว 8% แล้ว จากระดับ 750 จุดเหลือแค่ 690 จุด และมีแนวโน้มอ่อนตัวลงต่อเนื่อง เพราะปัจจัยเลวร้ายที่รุมเร้าจากทั้งภายนอกและภายใน ทั้งเศรษฐกิจโลก และการเมืองในประเทศ ...แล้วมันมีวิธีทำให้หุ้นไทยหยุดลงได้จริงๆ นะหรือ
ถ้าผมเป็น รมว.คลัง ผมจะเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องโดยด่วนที่สุด ทั้งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เลขาฯ ก.ล.ต. นายกสมาคม บลจ. นายกสมาคมบริษัทประกันชีวิต เลขาฯ กบข. และเลขาฯ สปส. เพื่อกำหนดแนวทางนโยบาย 2 ด้านหลักๆ ดังต่อไปนี้
1. ยกระดับเพดานขั้นต่ำของการลงทุนหุ้น สำหรับกองทุนบำนาญต่างๆ อาทิเช่น ประกันชีวิต กบข. กองทุนประกันสังคม (โดย สปส.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งรวมๆ ยอดเงินแล้วตอนนี้สูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันลงทุนอยู่ในหุ้นไทยราว 7% เท่านั้น
โดยอาจกำหนดให้ต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 10% ณ กลางปี 2553 15% ณ ปลายปี 2553 รวมไปถึง 20% ณ ปลายปี 2554 การกำหนดเช่นนี้ เมื่อคำนวณจากยอดเงินสินทรัพย์ของกองทุนบำนาญ ณ ปลายปี 2554 น่าจะมีมากกว่า 3 ล้านล้านบาทแล้ว ยอดเงินที่จะเข้าซื้อเพื่อลงทุนในหุ้นไทยโดยกองทุนบำนาญก็น่าจะสูงถึง 4 แสนล้านบาทได้เลยภายใน 2 ปี
แม้อาจมีผู้คัดค้านถึงเรื่องความเสี่ยงของเงินตรงนี้อยู่บ้าง แต่ก็อาจยกเหตุผลเพื่อหักล้างได้ดังนี้
- ในต่างประเทศอย่าง อเมริกา หรือยุโรปนั้นมีการลงทุนในหุ้นอยู่แล้วสูงถึง 50% ดังนั้น การออกกฎเพื่อยกระดับเพดานการลงทุนในหุ้น สูงสุด 20% ณ ปลายปี 2554 นับได้ว่าเป็นระดับที่ไม่ได้หวือหวาเกินเลยแต่อย่างใด เราจะทำไปเพื่อให้มาตรฐานของไทยเข้าใกล้เคียงกับระดับสากลมากยิ่งขึ้น
- การลงทุนในหุ้นในอดีตนั้นให้ผลตอบแทนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับตราสารการเงินประเภทอื่นๆ คือ ให้ผลตอบแทนราว 10% ต่อปี แม้จะมีการผันผวนขึ้นบ้างลงบ้างก็ตาม แต่ในระยะยาวแล้วถือว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และคุ้มค่ามาก เรื่องนี้นักลงทุนหุ้นต่างก็รู้กันเป็นอย่างดี
- นี่เป็นการทำให้มูลค่าการลงทุนในหุ้นของกองทุนบำนาญ ใน สปส. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข. ราวกองทุนละ 4 หมื่นล้านบาท ประกันชีวิตอีกราว 7 หมื่นล้านบาท ไม่ต้องเสื่อมค่าลงไปอาจจะเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลย ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประชาชนกลุ่มใหญ่ไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน แต่ก็ไม่ต้องอาศัยเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาช่วยเหลือ
- หากมองในแง่ชาตินิยม วิธีนี้เป็นการทำให้กองทุนบำนาญของคนไทย ได้ซื้อหุ้น ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย ฯลฯ กลับคืนจากต่างชาติในราคาไม่แพงนัก
ด้วยเงิน 4 แสนล้านบาทนี้ จะช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยได้ค่อนข้างแน่นอน เพราะเป็นเม็ดเงินมหาศาลถึงเกือบ 8% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ เคยมีบทวิจัยตลาดทุนว่ากันไว้ว่า หากยอดเงินราว 2% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ จัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น จะสามารถยันตลาดหุ้นไว้ได้ค่อนข้างได้ผลดี ดังนั้น วงเงินขนาด 4 แสนล้าน หรือ 8% นี้ คงแทบไม่ต้องสงสัยว่าจะสามารถพยุงไว้ได้หรือไม่
หากตลาดหุ้นได้ขึ้นไปแรงพอสมควร กองทุนบำนาญก็อาจไม่ต้องใส่เงินเพื่อไล่ซื้อ เพราะหุ้นในพอร์ตได้ขึ้นไปมากแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไล่ซื้อในราคาที่แพงเกินไปแต่อย่างใด
2. จัดตั้งกองทุนหุ้นเล็ก... โดยเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นเล็กที่ไม่อยู่ใน SET 50 เพื่อเป็นการปรับสมดุล P/E ของตลาดหุ้น โดยหุ้นเหล่านี้จะมีค่า P/E ที่ต่ำเพียง 5-6 เท่าอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่หุ้นตัวใหญ่ๆ อาทิเช่น CPALL MINT ADVANC หรือ BEC เหล่านี้ มักจะมี P/E ที่สูง 18 เท่าขึ้นไป
วิธีการ ก็คือ ให้ตลาดหลักทรัพย์ กบข. และ สปส. ร่วมลงขันกันแห่งละ 200 ล้านบาท สมทบให้กับ บลจ.ที่จัดตั้งกองทุนหุ้นเล็กขึ้นมา (ปกติแล้ว จะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน) ก็จะทำให้แต่ละ บลจ.ได้เงินเพื่อบริหารอย่างน้อยๆ 600 ล้านบาทแต่ละกองทุน ซึ่งทำให้คุ้มค่าต้นทุนการบริหารได้ หากมี 5 บริษัทจัดตั้งขึ้นมา เงินถึง 3 พันล้านบาท ก็พร้อมจะเข้าไปลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าน่าสนใจให้มีราคาที่สูงขึ้น และจะเป็นการสร้างสมดุล P/E ที่เหมาะสมให้กับตลาดหุ้นได้อย่างดี
ท่านผู้อ่านอาจร้อง โอ้โห...แบบนี้ก็น่าจะทำให้หุ้นไทยไม่ลงได้จริงๆ นะสิ นี่เป็นเพียง 2 ใน 18 กระบวนท่า "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดใหม่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่เพิ่มหนี้ภาครัฐ จะช่วยให้หลายๆ ประเทศรวมทั้งไทย ให้ไม่ต้องสร้างหนี้ภาครัฐเพิ่ม แต่ใช้การยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจากกองทุนบำนาญ (ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หลักของรัฐบาล) มาช่วยเติมกำลังซื้อ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ แทนการใส่เงินงบประมาณลงไปตรงๆ
อยากฝากให้ผู้มีหน้าที่ดูแลนโยบายของรัฐได้ศึกษาในเรื่อง "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" ไว้ด้วย เพื่อช่วยประชาชนคนไทยหลายสิบล้านคนอยู่ดีกินดีขึ้น โดยไม่สร้างภาระหนี้ให้ลูกหลาน แต่บทสรุปของบทความนี้ ก็คือ แนะนำกันขนาดนี้แล้ว หวังว่าผมคงจะไม่เห็นหุ้นไทยต้องดิ่งลงไปอีกนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น