กับดักประกันสังคม : ยิ่งออมยิ่งจน
มันเป็นไปได้อย่างไรกันกับเรื่องของ “ยิ่งออมยิ่งจน” พวกเราจะรู้จักเรื่องราวแบบ “ยิ่งออมยิ่งรวย” กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าอ่านสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้ ท่านอาจต้องน้ำตาซึมเหมือนผม ซึ่งเป็นความเห็นใจต่อชะตากรรมของผู้ประกันตนที่ต้องติดกับดักของประกันสังคม “ยิ่งออมยิ่งจน” ผมขอเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายรีบเร่งแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วนก่อนที่จะคนทำงานในระบบจะล้มละลายกันครึ่งประเทศ
ประกันสังคม จะคุ้มครองผู้ประกันตน 7 กรณี แต่หลักๆ แล้ว พวกเราจะรู้จักกันในกรณีของการประกันสุขภาพ และ อุบัติเหตุ อย่างไรก็ดี สำหรับบทความตอนนี้ ผมมุ่งประเด็นไปยัง “กรณีชราภาพ” ซึ่งมีเงินกองทุนสะสมถึงราว 5 แสนล้านบาทเพื่อให้ผู้ประกันตนได้ใช้เงินยามเกษียณ
ยกตัวอย่าง นายพอเพียง ทำงานเป็น รปภ.อายุ 40 ปี เริ่มเข้าระบบประกันสังคม อัตราเงินเดือนที่ 7 พันบาท โดยได้รับเงินเดือนเพิ่มเดือนละ 500 บาทเป็นประจำทุกปีเมื่อผ่านไป 15 ปีเงินเดือนอยู่ที่ 1.4 หมื่นบาท เขาได้โบนัส 2 เดือนทุกปีเช่นกัน นำไปออมในประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (ผลตอบแทนเฉลี่ย 3% ต่อปีตลอดอายุกรมธรรม์) เขาตั้งใจจะใช้เงินแบบหมดทุกเดือน และนำโบนัสมาเก็บออมเพื่อใช้ยามเกษียณ ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่อยู่ในกรอบพอเพียงตามอัตภาพ
อย่างไรก็ดี เมื่อมีระบบประกันสังคมเข้ามา เขาต้องถูกบังคับออมเงิน 3% และ นายจ้างอีก 3% รวมเป็น 6% เข้าสะสมเป็นเงินออมชราภาพ หมายถึง เดือนละ 420 บาท ที่เขาควรจะดึงเงินออมของตนเองออกมาใช้ได้นั้นก็กลับนำมาใช้ไม่ได้ ต้องถูกบังคับออมกับกองทุนประกันสังคมเอาไว้ เขาจึงไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินแบบสินเชื่อเงินบุคคลเงินด่วน อัตราดอกเบี้ย 28% แทน ด้วยเงินก้อนเดียวกัน
เชื่อหรือไม่ว่า เวลาผ่านไป 15 ปี ยามเขาเกษียณนั้น หากกองทุนประกันสังคมให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5% ตามคาด นายพอเพียง คนนี้จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพสูงถึง 1.6 แสนบาท นับว่าไม่น้อยเลย แถมยังมีเงินออมในกรมธรรม์ประกันชีวิต 3.8 แสนบาท รวมแล้ว 5.4 แสนบาท เขาน่าจะสบายๆ ใช่ไหม แต่เปล่าเลย เพราะว่าเขากลับติดหนี้สินกับสถาบันการเงินทั้งแบงก์ และ นันแบงก์ ถึง 8.8 แสนบาท ด้วยกลไกของดอกเบี้ยทบต้นที่ทำให้ยอดหนี้วิ่งเร็วมาก ดังนั้น เขาจึงเกษียณจากงาน ชำระหนี้สินด้วยเงินทั้งหมดที่รับมา พร้อมๆ กับหนี้สินสุทธิที่เหลืออยู่ถึง 3.4 แสนบาท โดยที่อาจไม่มีรายได้เลยในแต่ละเดือน เขาจะอยู่อย่างไร ??
ในทางตรงกันข้าม หากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปล่อยให้เขานำเงินออมตนเองออกมาใช้ได้ทุกเดือน เขาคนนี้ก็จะไม่ต้องติดหนี้สินดอกเบี้ยโหด แต่ละเดือนหมดไปพอดี และ มีเงินออมสุทธิสูงถึง 3.8แสนบาทจากกรมธรรม์ประกันชีวิตยามเกษียณ ซึ่งก็นับว่าดีกว่าระบบปัจจุบันมาก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบประกันสังคมในปัจจุบันนั้นมีแนวโน้มจะทำให้ผู้ประกันตนส่วนใหญ่จนลง แทนที่ร่ำรวยขึ้น ตามการสร้างภาพที่สวยหรู เพราะราว 75% ของผู้ประกันตนติดหนี้สินอยู่แล้ว
นั่นหมายถึงว่า ทุกบาทของการถูกบังคับออมกับประกันสังคมนั้น ผู้ประกันตนกลุ่มที่ติดหนี้อยู่นี้ ได้รับผลตอบแทนที่ติดลบ 23% (5%-28%) คือ ถูกบังคับออมได้รับผลตอบแทนที่ 5% ต่อปีในเวลาเดียวกันก็ต้องไปกู้ยืมเงินก้อนเดียวกันที่ใช้ไม่พอในแต่ละเดือนต้องเสียดอกเบี้ย 28% ต่อปี สปส. และ กบข. จึงดูเหมือนว่าได้ร่วมมือทางอ้อมกับสถาบันการเงิน เพื่อดูดเอาผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยส่วนต่างนี้ไปจากมือผู้ประกันตนและข้าราชการ ซึ่งลองประเมินดูแล้วตัวเลขสูงนับแสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
ในทางตรงกันข้าม หากคนระดับเศรษฐีออมเงินผ่าน RMF, LTF นั้น ลงเงินตัวเองแค่ 63% ได้รับเงินจากรัฐบาลจากเงินลดหย่อนภาษี 37% และคาดหวังผลตอบแทนจากตลาดหุ้นราวเฉลี่ยปีละ 10% ดังนั้นรวมแล้วได้ 47% จากเงินต้นแค่ 63% นั่นคือได้รับผลตอบแทนการออม ที่ 75% ต่อปี สูงเหลือเชื่อเลยไหม
นี่จึงเป็นความอยุติธรรมอย่างยิ่งยวดในสังคมไทย ไม่เพียงแต่ปล่อยให้รายได้แตกต่างกันเป็นร้อยเท่าตัว แรงงานระดับรากหญ้าได้เงินเดือนแค่เดือนละไม่กี่พันบาท ขณะที่ระดับบริหารชั้นเศรษฐีนั้นได้รับกันหลายแสนหรือเป็นล้านต่อเดือน ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยนโยบายประกันสังคม และ LTF ในปัจจุบันยังตอกย้ำสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมยิ่งขึ้นไปอีกต่อผลตอบแทนการออม การลงทุนของประชาชน โดยผู้ประกันตนระดับรากหญ้าซึ่งติดหนี้สินนั้น ได้รับผลตอบแทนการบังคับออมที่ -23% (ถูกบังคับออมขณะเดียวกันก็ต้องกู้ยืมหนี้สินดอกเบี้ยโหด ดังนั้นยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งออมก็ยิ่งจน) ขณะที่ชนชั้นเศรษฐีรายได้ 4 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปนั้น ผลตอบแทนการลงทุนคาดหวังได้ที่ +75% ต่อปี และทำให้คนกลุ่มนี้ออมเงินมากขึ้นและรวยขึ้นเพราะได้ผลตอบแทนสูงมาก แต่ใช้จ่าย ณ ปัจจุบันน้อยลง เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวช้า ขณะที่ผู้ประกันตนรากหญ้าก็ออมเช่นกันแต่เป็นแบบบังคับออม เศรษฐกิจไม่ดีนัก รายได้ของพวกเขาก็ไม่เพิ่มจึงจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำให้ผลตอบแทนการถูกบังคับออมสุทธิแล้วติดลบ
หากปล่อยให้ระบบนี้ดำเนินต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น....ผู้ประกันตนกว่าครึ่งจาก 9 ล้านคนเศษ ก็จะประสบกับปัญหาการล้มละลายทางการเงินไงครับ เพราะ มือข้างหนึ่งถูกบังคับออมเงินกับ สปส.ได้ 5% ขณะเดียวกันเงินไม่พอก็มืออีกข้างต้องไปกู้ยืมเงินดอกเบี้ย 28% ยิ่งออมกับ สปส.ก็ยิ่งจน ติดลบเรื่อยๆ สุดท้ายก็ล้มละลายทางการเงิน เพราะไม่มีปัญญาหาเงินมาผ่อนหนี้กับสถาบันการเงิน โดยสาเหตุหลักก็เพราะถูกบังคับออมโดยระบบประกันสังคมโดยไม่สามารถดึงเงินตนเองออกมาได้นั่นเอง
ทางแก้ไขนั้นก็มีอยู่แล้วใน “เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก” โดยเปิดสิทธิให้ สปส.ค้ำประกันเงินกู้ของผู้ประกันตนไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมแต่ละบุคคล อัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผมใช้ชื่อว่า “สินเชื่อ99” จะช่วยทำให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินออมของตนเองไปเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้ดอกเบี้ยโหดได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายการผ่อนเงินต้นและดอกเบี้ยต่อเดือนไปได้กว่าครึ่ง
ผมขอเรียกร้องรัฐบาลและ บอร์ด สปส. รีบดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเรื่องนี้พวกท่านต้องรีบคืนผลประโยชน์นับแสนล้านบาทต่อปีให้แก่ผู้ประกันตน และ ข้าราชการรายได้น้อย ไม่ใช่ให้สถาบันการเงินมาตักตวงผลประโยชน์ตรงนี้ไปได้อย่างสบายๆ ไม่เพียงแต่ความยุติธรรมที่จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น เงินในมือของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้นและช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างดีด้วย พวกท่านสมควรจะต้องรีบพิจารณาเรื่องนี้โดยเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้อีกไม่นาน แรงงานไทยในระบบ หรือผู้ประกันตนอาจต้องประสบกับปัญหาล้มละลายทางการเงินกว่าครึ่งประเทศก็เป็นได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น